วันอังคารที่ 4 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557


พัฒนาการทางสังคม หมายถึง การพัฒนาความสามารถในการแสดงพฤติกรรมให้สอดคล้องกับแบบแผนที่สังคมยอมรับ เพื่อดำรงชีวิตในสังคมได้อย่างเป็นปกติสุข ซึ่งเด็กอายุ 3-6 ปีจะเป็นช่วงวัยที่สนใจเรียนรู้สังคมภายนอกบ้านมากขึ้น เป็นการเรียนรู้เกี่ยวกับการสร้างสัมพันธภาพกับบุคคลอื่นที่อยู่รอบตัว พัฒนาการด้านสังคมของเด็กวัยนี้จึงเป็นพื้นฐานการสร้างบุคลิกภาพที่เหมาะสมของเขาในอนาคต








พัฒนาการด้านสังคมวัยอนุบาลสำคัญอย่างไร?

เมื่อเด็กย่างเข้าสู่วัยสามขวบ เด็กจะเรียนรู้กระบวนการที่สำคัญและจำเป็นสำหรับเขา และจะทำให้เด็กเรียนรู้แนวทางการปฏิบัติตัวในสังคมที่ถูกต้อง นั่นคือการปรับตัวให้บุคคลอื่นยอมรับ เพื่ออยู่ร่วมกับบุคคลรอบตัวได้ ซึ่งการเรียนรู้นี้เป็นกระบวนการปรับตัวทางสังคม (Socialization process) เด็กเรียนรู้ที่จะร่วมมือกับผู้อื่นในลักษณะกลุ่ม รู้จักการเป็นสมาชิกของกลุ่ม รู้จักปฏิเสธ การรับ การสื่อสาร หรือการใช้ภาษา ซึ่งส่วนมากเด็กจะเรียนรู้ผ่านการเล่น ดังนั้น การเล่นและการทำกิจกรรมร่วมกับผู้อื่นจะช่วยให้เด็กเรียนรู้ที่จะลดตนเองจากการเป็นศูนย์กลางไปสู่การปฏิบัติที่ยอมรับคนอื่นมากขึ้น แต่การมีสัมพันธภาพกับบุคคลอื่นยังอยู่ในช่วงเวลาสั้นๆ เราจึงมักจะเห็นว่าเด็กมีพฤติกรรมการแสดงอารมณ์ดีสลับอารมณ์ไม่ดีอยู่เช่นนั้น การอบรมเลี้ยงดูเด็กด้วยความเข้าใจ ด้วยการเป็นแบบอย่างที่ดีและแนะนำสั่งสอนเด็กด้วยความอ่อนโยน ชี้แนะระเบียบกฎเกณฑ์ของสังคม การจัดกิจกรรมกลุ่ม การชวนเล่นแบบมีข้อตกลง จะช่วยพัฒนาการด้านสังคมให้เด็กไปสู่คุณลักษณะที่พึงประสงค์ พัฒนาการทางสังคมของเด็กวัย 3-6 ปี เป็นพื้นฐานสำคัญในการพัฒนาบุคคลิกภาพ ดังที่นักจิตวิทยาผู้มีชื่อเสียงได้กล่าวไว้ ดังนี้


  • Sigmund Freud กล่าวถึงขั้นตอนพัฒนาการของเด็กว่า ประสบการณ์ในวัยเด็กมีความสำคัญที่ส่งผลต่อบุคลิกภาพในวัยผู้ใหญ่ โดยเฉพาะช่วงปฐมวัยว่าเป็นวัยสำคัญที่สุด หากวัยเด็กมีพัฒนาการที่สมบูรณ์จากการอบรมเลี้ยงดูอย่างถูกต้องจากครอบครัว เด็กจะผ่านขั้นตอนการเจริญเติบโตอย่างดี ไม่เกิดการชะงักงัน (Fixation) หรือการถอยกลับ (Regression) เมื่อเด็กเติบโตขึ้นจะมีบุคลิกภาพดีเป็นปกติ แต่ในทางตรงข้าม หากเด็กไม่ได้รับการตอบสนองเด็กจะชะงักในวัยเด็กนั้นตลอดไป ฟรอยด์กล่าวว่า การพัฒนาการของเด็กวัยนี้จะอยู่ในขั้นความพอใจอยู่ที่อวัยวะเพศ (Phallic Stage) ลักษณะความสนใจของเด็กเริ่มมองเห็นความแตกต่างของเพศมากขึ้น เด็กชายจะเลียนแบบพ่อ ผู้หญิงจะเลียนแบบแม่มากขึ้น ดังนั้น การเลี้ยงดูเด็กอย่างใกล้ชิด ให้โอกาสเด็กเรียนรู้บทบาทของตนตามเพศจากการเลียนแบบพ่อแม่ เป็นการส่งเสริมพัฒนาการทางสังคมของเด็กอย่างเหมาะสม
  • Erik H. Erikson กล่าวว่า ในช่วงอายุ 3-6 ปี เป็นระยะที่พัฒนาความคิดริเริ่มหรือความรู้สึกผิด (Initiative versus Guilt) เด็กจะกระตือรือร้นที่จะเรียนรู้สิ่งต่างๆรอบตัว รู้จักเล่นเลียนแบบสมมุติ เด็กจึงควรมีอิสระที่จะในการค้นหา หากไม่มีอิสระเด็กจะรู้สึกผิดที่ไม่สามารถเรียนรู้ ส่งผลต่อความรู้สึกไม่ดีของเด็ก

เด็กวัยอนุบาลมีสมรรถนะและพัฒนาการด้านสังคมอย่างไร? 

สมรรถนะและ พัฒนาการทางสังคมของเด็กตั้งแต่ 3-6 ปี มีดังนี้
  • เด็กวัย 3 ขวบ รับประทานอาหารเอง เล่นแบบคู่ขนาน คือ เล่นของเล่นชนิดเดียวกัน แต่ต่างตนต่างเล่น ชอบเล่นสมมุติ รู้จักการรอคอย
  • เด็กวัย 4 ปี แต่งตัวได้ด้วยตนเอง ไปห้องน้ำได้เอง เล่นร่วมกับคนอื่นได้ รอคอยตามลำดับก่อนหลัง แบ่งของให้คนอื่น เก็บของเล่นเข้าที่ได้
  • เด็กวัย 5 ปี ปฏิบัติกิจวัตรประจำวันได้ด้วยตนเอง เล่นหรือทำงานโดยมีจุดมุ่งหมายร่วมกับคนอื่นได้ พบผู้ใหญ่รู้จักไหว้ ทำความเคารพ รู้จักขอบคุณ เมื่อรับของจากผู้ใหญ่ รับผิดชอบงานที่ได้รับมอบหมาย
  • เด็กวัย 6 ปี มีการเล่นเป็นกลุ่ม มีกติกาข้อตกลง เข้าใจความรู้สึกของผู้อื่นมากขึ้น ช่วยเหลือตัวเองได้ดี รู้จักมารยาททางสังคม

พ่อแม่ ผู้ปกครองจะจัดกิจกรรมส่งเสริมพัฒนาการให้ลูกได้อย่างไร?

ในช่วงวัย 3-6 ปี เด็กมีพัฒนาการทางสังคมมากขึ้น และต้องการเรียนรู้สังคมจากสมาชิกในครอบครัว แต่ปัจจุบันเด็กใช้เวลาอยู่ในสถานศึกษามากกว่าอยู่กับครอบครัวหรือญาติผู้ใหญ่เหมือนสมัยก่อน เนื่องจากสภาพสังคมไทยปัจจุบันเป็นครอบครัวเดี่ยว หลายครอบครัวมีแต่พ่อแม่เลี้ยงลูกตามลำพัง การสร้างสัมพันธภาพทางสังคมที่ใช้ครอบครัวเป็นศูนย์กลาง จึงเป็นหน้าที่ที่พ่อแม่ควรร่วมมือกันปฏิบัติเพื่อพัฒนาลูกโดยการฝึกหัดให้เกิดการเรียนรู้ทางสังคม ซึ่งมีบทบาทในการกำหนดบุคลิกภาพของเด็กไม่น้อยกว่าช่วงวัยทารก ดังนี้
  • ฝึกหัดควบคุมจิตใจตนเอง เด็กจะได้ทุกอย่างตามใจต้องการไม่ได้ เพราะสังคมมีกฎระเบียบเงื่อนไขต่างๆเพื่อให้ทุกคนปฏิบัติตาม เด็กเป็นสมาชิกหนึ่งในสังคม จะต้องเรียนรู้ที่จะควบคุมความต้องการของตนเอง เช่น ขณะที่แม่ทำอาหารอยู่ ลูกขอร้องแม่ให้มาเล่านิทาน ควรบอกให้ลูกรอคอยแม่ทำอาหารให้เสร็จก่อนแล้วจะไปเล่าให้ฟัง เมื่อถึงเวลาที่ตกลงกันก็ควรเล่านิทานให้ลูกฟัง เด็กจะเริ่มเรียนรู้ว่า อะไรคืองานหรือธุระ มีความสำคัญ และอะไรที่ทำภายหลังได้ การรอคอยได้ จะเป็นพื้นฐานเรื่องความอดทน และการรู้จักเกรงใจผู้อื่นได้ในเวลาต่อมา
  • ฝึกให้เด็กรู้จักตนเอง พ่อแม่ลูกสามารถทำร่วมกันได้ที่บ้าน เช่น ชวนลูกทำสมุดประวัติตนเอง มีภาพถ่ายของลูกตั้งแต่วัยทารกจนปัจจุบัน ภาพพ่อแม่ พี่ น้อง ปู่ย่า ตายาย ให้ลูกจัดภาพลงสมุดภาพ ให้บอกชื่อเล่น ชื่อจริงและนามสกุล ชื่อพ่อ แม่ และบุคคลในภาพ พ่อแม่ช่วยเขียน หากเด็กวัย 5-6 ปี อาจเขียนตามแบบได้ บางภาพอาจเล่าเรื่องราวและบันทึกไว้ ทำต่อไปจนเด็กโตเข้าชั้นประถมศึกษาเขาจะทำเองได้ กิจกรรมนี้ช่วยให้เด็กรู้จักตนเองและความสัมพันธ์ในครอบครัว
  • ฝึกหัดให้เชื่อฟัง เด็กวัย 3 ขวบจะมีความเข้าใจภาษา เมื่อผู้ใหญ่ชี้แนะกฎเกณฑ์ กติกา มารยาททางสังคมที่เด็กจำเป็นต้องปฏิบัติ เด็กจะเชื่อฟังผู้ใหญ่เมื่อเขาได้รับการปฏิบัติตามข้อตกลงจริง เด็กจะเกิดการศรัทธา ขณะเดียวกันผู้ใหญ่ควรให้การเสริมแรง เช่น ยอมรับการปฏิบัติของเด็ก ชมเชยด้วยคำพูด ยิ้ม โอบกอด เมื่อเด็กปฏิบัติตนดี เป็นต้น เด็กก็เรียนรู้ว่าหากเชื่อฟังผู้ใหญ่จะได้สิ่งดีตอบแทน
  • ฝึกการอยู่ร่วมกับผู้อื่น การเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกับคนอื่นของเด็กวัย 3-6 ปี เป็นการพัฒนาความต้องการที่จะมีสังคมที่นอกเหนือจากพ่อแม่ การอยู่กับคนอื่นเป็นสิ่งที่เด็กต้องเรียนรู้ว่า เราอยู่คนเดียวในโลกนี้ไม่ได้ เด็กควรได้อยู่ในสังคมแห่งความรัก คือ มีลักษณะของการส่งเสริมให้เด็กรักเพื่อน สัตว์ ต้นไม้ ฯลฯ กิจกรรมที่จัดให้เด็กเรียนรู้ที่จะอยู่ในสังคมจากการปฏิบัติต่อกันในชีวิตประจำวัน เช่น การรับประทานอาหารร่วมกัน การช่วยพ่อแม่หยิบของใช้ การช่วยเลี้ยงน้อง เล่นกับน้องหรือเพื่อน ช่วยให้อาหารสัตว์เลี้ยง ช่วยรดน้ำต้นไม้ เป็นต้น
  • ฝึกจริยธรรม จริยธรรมเบื้องต้นสำหรับเด็กเป็นการสร้างเสริมทัศนคติต่อคุณธรรมเพื่อให้มีความพร้อมทางจริยธรรมในขั้นสูงต่อไป โดยเริ่มสอนให้เด็กรู้จักกรรมดีชั่วให้ถูกต้อง รู้ว่าทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว และรู้ว่าความสุขที่แท้จริงคือความสงบ ไม่ดีใจเกินไปหรือเสียใจเกินไป โดยมีตัวแบบปฏิบัติที่ถูกต้องดีงามให้เด็กซึมซับจากตัวแบบจริง เช่น การเห็นผู้ใหญ่พูดจาไพเราะ แบ่งปัน เอื้อเฟื้อต่อกัน และให้เด็กเรียนรู้จากตัวแบบทางอ้อม เช่น จากตัวละครในนิทาน การแสดงละคร การเล่นบทบาทสมมุติ เป็นต้น
  • ฝึกปฏิบัติกิจกรรมทางศาสนา วัฒนธรรม ประเพณี กับครอบครัว โรงเรียนและชุมชนกิจกรรมเหล่านี้มีความหมายต่อชีวิตทั้งตนเองและสังคม พ่อแม่ควรปลูกฝังและชี้แนะให้เด็กทำความดี ปฏิบัติตามคำสั่งสอนของศาสนาที่ตนนับถือ ร่วมกิจกรรมตามประเพณีในสังคมไทย ซึ่งมีจุดมุ่งหมายคือการทำความดี เช่น กิจกรรมวันแม่ วันที่ 12 สิงหาคม กิจกรรมวันพ่อ วันที่ 5 ธันวาคม กิจกรรมวันสารทเดือนสิบ กิจกรรมวันตรุษจีน กิจกรรมเหล่านี้ปลูกจิตสำนึกให้เด็กรู้ว่าเรามีผู้เลี้ยงดูเรามา เราต้องมีความกตัญญูกตเวทีต่อท่านด้วยการเชื่อฟัง ทำดีและต่อไปภายหน้าเราควรเป็นผู้เลี้ยงดูตอบแทนท่าน ผู้ใหญ่ควรสอนเรื่องนี้แก่เด็ก เนื่องจากการมีความกตัญญูจะเป็นหนทางของคนดี เป็นต้น
  • ฝึกให้เด็กพึ่งตนเอง คุณลักษณะการพึ่งตนเองเป็นสิ่งที่ดีงามของชีวิตที่ทำให้ตนเองมีคุณค่าและไม่เป็นภาระของผู้อื่น ดังคุณลักษณะที่พึงประสงค์ของเด็กปฐมวัยตามหลักสูตรการศึกษาปฐมวัยพุทธศักราช 2546 ได้ระบุไว้ว่า เด็กควรช่วยเหลือตนเองได้เหมาะสมกับวัย ดังนั้นวัยเด็ก 3-6 ปี เด็กจะต้องแต่งตัว อาบน้ำ ทำความสะอาดอวัยวะขับถ่าย จัดและเก็บที่นอน รับประทานอาหารได้เอง หยิบของเล่นได้เอง และรู้จักเก็บให้เรียบร้อย รวมทั้งช่วยพ่อแม่ทำงานบ้านง่ายๆได้ เช่น รดน้ำตนไม้ ให้อาหารสัตว์เลี้ยง หรือ เขียน วาดภาพเล่นเพลิดเพลินได้โดยไม่รบกวนผู้ใหญ่
  • ฝึกให้รู้จักสภาพชุมชนที่ตนเองอยู่ หมายถึงบุคคล สถานที่ เรื่องราวง่ายๆที่เกิดขึ้น เพื่อเขาจะได้รู้เห็นว่าสังคมประกอบด้วยอะไร โลกรอบตัวเขากว้าง มีสิ่งที่เกิดขึ้นเกี่ยวข้องกับเขาด้วย พ่อแม่ควรนำเด็กไปในสถานที่สาธารณะต่างๆด้วย เช่น ตลาด ไปรษณีย์ ร้านค้า โรงพยาบาล ฯลฯ เด็กจะเรียนรู้ว่า มีผู้ปฏิบัติงานหรือมีอาชีพ มีการปฏิบัติตนต่อกันอย่างไร เหตุใดต้องไปที่แห่งนั้น เป็นการเตรียมเด็กไปสู่สังคมนอกบ้าน เด็กจะค่อยๆปรับตัวจนเป็นผู้ใหญ่ที่ฉลาดในอนาคต
  • ฝึกหัดให้รู้จักตนเองและหน้าที่ รู้จักสิทธิของตนเองและผู้อื่น เด็กควรรู้จักตนเองว่าเป็นสมาชิกของครอบครัวมีหน้าที่เชื่อฟังพ่อแม่และช่วยเหลือครอบครัวในฐานะสมาชิก เด็กเป็นสมาชิกของโรงเรียน หน้าที่ของเด็กคือ การเรียนหนังสือ ปัจจุบันเด็กวัย 3 ขวบไปโรงเรียนแล้ว เขาจะต้องเรียนหนังสือกับครู เด็กๆทุกคนมีสิทธิที่ได้เรียน จึงควรตั้งใจเรียน คุณครูเป็นครูของทุกคน เพื่อนที่อยู่ด้วยเป็นมิตรกัน มีสิทธิที่จะเล่นที่โรงเรียนเหมือนกัน มีของเล่นเราเล่นด้วยกันได้ เด็กควรรู้จักสิทธิและหน้าที่ผ่านกิจกรรมที่เด็กทำได้ โดยพ่อแม่เป็นผู้ปลูกฝังผ่านการกระทำและสนทนากับเด็ก เพื่อเขาจะได้เป็นสมาชิกที่ดีของสังคมเมื่อเติบโต

ประเมินพัฒนาการด้านสังคมของลูกได้อย่างไร?

การประเมินคือ การตรวจสอบการบรรลุผลตามจุดประสงค์ที่กำหนดไว้ เพื่อนำผลไปพัฒนาการเด็กให้เหมาะสมต่อไป การประเมินพัฒนาการเด็กจะมีวิธีการหลายวิธีการ เช่น การสังเกต การบันทึกพฤติกรรม การสนทนา การสัมภาษณ์ การทำสังคมมิติ การศึกษาเป็นรายกรณี การวิเคราะห์ข้อมูลจากผลงานของเด็ก เป็นต้น สำหรับเด็กปฐมวัย ในที่นี้เสนอตัวอย่างแบบประเมินพัฒนาการเด็กทางสังคมเด็กวัย 3-6 ขวบ บางประเด็นดังนี้
ตัวอย่างแบบสังเกตพฤติกรรมทางสังคมเด็ก วัย 6 ขวบ เรื่อง การช่วยเหลือตนเอง
ชื่อเด็กชาย/เด็กหญิง...............................นามสกุล.....................ผู้บันทึก.........................
พฤติกรรมที่พึงประสงค์คะแนนข้อสังเกต
ปฏิบัติกิจวัตรประจำวัน
  • ช่วยเหลือตนเองในการปฏิบัติกิจวัตรประจำวันได้ตามวัย
  • เล่นและทำกิจกรรมต่างๆที่ได้รับมอบหมาย
  • พักผ่อนเป็นเวลา
  • รับประทานอาหารและขนมเป็นเวลา
ระมัดระวังและดูแลตนเองให้ปลอดภัย
  • ระมัดระวังและดูแลตนเองให้ปลอดภัย
  • แก้ปัญหาในการเล่นและทำกิจกรรมต่างๆ
  • แก้ปัญหาในการเล่นและทำกิจกรรมต่างๆ
ปฏิบัติตามข้อตกลง
  • ปฏิบัติตามข้อตกลงของห้องเรียนและโรงเรียน
  • มีมารยาทในการพูดและการฟัง
ให้ระดับคะแนนแต่ละข้อในรายการที่สังเกต ตามกำหนดดังนี้
  • 3 หมายถึง ทำได้ดี และสม่ำเสมอทุกสถานการณ์
  • 2 หมายถึง ทำได้บ้างบางครั้ง โดยมีผู้ใหญ่ เตือน บางครั้ง
  • 1 หมายถึงทำไม่ได้ ผู้ใหญ่ช่วยเหลือ ตักเตือนตลอดเวลา

เกร็ดความรู้เพื่อครู

เด็กวัย 3-6 ปี มีพัฒนาการด้านสังคมมากขึ้น ครูควรได้สังเกตและบันทึกพฤติกรรมของเด็กไว้เพื่อส่งเสริมเด็ก โดยร่วมมือกับพ่อแม่และชุมชน จัดกิจกรรมส่งเสริมพัฒนาการด้านสังคมร่วมกัน พ่อแม่ยังเป็นบุคคลที่สำคัญต่อเด็กอย่างมาก เด็กสนใจการเลียนแบบพ่อแม่ตามเพศของตน ครูควรให้ความรู้และสร้างความเข้าใจกับพ่อแม่ เพื่อให้พ่อแม่นำผลการศึกษาไปพัฒนาครอบครัว นอกจากนี้ การจัดการศึกษาปฐมวัยตามการปฏิรูปการศึกษาที่มีขึ้นตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 ยังเน้นการใช้ชุมชนเป็นแหล่งเรียนและการมีส่วนร่วมของชุมชนในการจัดการศึกษาปฐมวัย เพื่อส่งเสริมให้เด็กพัฒนาตนเองอย่างเต็มศักยภาพ เช่น การนำเด็กไปศึกษานอกสถานที่ เพื่อให้เขารู้จักแหล่งทรัพยากรที่มีคุณค่าของชุมชนตนเอง เป็นต้นง

แหล่งข้อมูลhttp://taamkru.com/th/%E0%B8%9E%E0%B8%B1%E0%B8%92%E0%B8%99%E0%B8%B2%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%94%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%99%E0%B8%AA%E0%B8%B1%E0%B8%87%E0%B8%84%E0%B8%A1%E0%B8%A7%E0%B8%B1%E0%B8%A2%E0%B8%AD%E0%B8%99%E0%B8%B8%E0%B8%9A%E0%B8%B2%E0%B8%A5/

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น